วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา : น้ำต้นทุนยังน้อย เตือนต้องประหยัด ลดเสี่ยงขาดน้ำในหน้าแล้ง

          ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(2 ต.ค. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,545 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,745 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,546 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,696 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 685 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 642 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 702 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 699 ล้านลูกบาศก์เมตร
          สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา(2 ต.ค.) สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 858 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5.55 เมตร สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 669 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 6.44 เมตร และที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 874 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2.70 เมตร(ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอ.บางไทร เป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความสามารถรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
          อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ อากาศเย็นจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวกดดันแนวฝนของไทยลงมายังภาคกลาง ทำให้ภาคเหนือแทบจะไม่มีฝนมาเติมในเขื่อนภูมิพลอีก จึงคาดได้ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.57 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูแล้ง เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น โดยจะต้องกันน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนปีหน้าอีกประมาณ 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวได้พร้อมกัน ลดปัญหาในช่วงน้ำหลาก นอกจากนี้ ยังต้องจัดสรรน้ำให้กับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ภาคกลางรวม 22 จังหวัด ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาอีกประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีความจำเป็นต้องดึงน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มาช่วยเสริมการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง
          ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง คาดว่าจะมีน้ำใช้การไม่ถึง 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นกัน โดยต้องสำรองไว้สำหรับการเพาะปลูกต้นฤดูฝนประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การผลิตน้ำประปา 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีก 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้มีการพิจารณาการระบายน้ำร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อระบายน้ำมาสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในช่วงที่มีฝนตกน้อยและมีการขาดแคลนน้ำในพื้นที่
          ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ ขอให้ทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดปัญหากระทบกันเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ไม่มีแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และหากมีการใช้น้ำทำนาปรัง ปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ในระหว่างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อน้ำจืดไปไล่น้ำเค็มมีไม่เพียงพอ และกระทบต่อไปยังการผลิตน้ำประปา เนื่องจากปัญหาค่าความเค็มที่สูงขึ้น รวมถึงภาคการเกษตรอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ และการเลี้ยงปลาในกระชัง จะเสียหายหมด หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มสูงในช่วงฤดูแล้ง

**************************************************
ข้อมูล : ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2 ต.ค.57)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น