วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2557

รับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอ่างทอง

          ด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอ่างทอง เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอ่างทอง ซึ่งจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 เวลา 08.30-16.30 น. ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอ่างทอง (ในวันและเวลาราชการ) ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ทางเว็บไซต์ http://www.antjc.coj.go.th/
-----------------------------------
ภาวิณี เรือนนาค/ข้อมูล
10 ต.ค.57

วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช แจ้งแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

          ด้วยจังหวัดอ่างทองได้รับแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช ว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำภูมิพลและอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์อยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานจึงต้องวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อใช้ในกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การประปา การรักษาระบบนิเวศทางน้ำ สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช นั้น ไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือปลูกข้าวนาปรังในปี พ.ศ.2557/2558 จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการฯมหาราช ที่ทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเสร็จสิ้นแล้ว โปรดงดทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหรือทำนาครั้งที่สอง เพราะอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการขาดแคลนน้ำและเกิดความเสียหายต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรได้
           หากต้องการเพาะปลูกพืชควรมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองหรือเจาะบ่อบาดาลเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้เองและเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือปลูกพืชบำรุงดิน เป็นต้น
--------------------------------------------------
ภาวิณี เรือนนาค/ข้อมูล
9 ต.ค.57

วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เชิญสั่งจองหนังสือเทิดพระเกียรติ "KING IN MY HEART"


          ด้วยสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศล มีพระราชดำริก่อตั้งโดย พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ดำเนินงานด้านการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์สัตว์ผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลา 89 ปีมาแล้ว ได้จัดทำโครงการสายใยสู่สัตว์ไทย เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้จัดทำหนังสือเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "KING IN MY HEART" ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานเพื่อประชาชน เหมาะสำหรับเยาวชนและครอบครัว ใช้วิธีการนำเสนอในรูปแบบการ์ตูนโดยนักวาดชั้นนำของประเทศ สีสันลายเส้นทันสมัย อ่านเข้าใจง่าย ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ในราคา 120 บาท จากปกติราคา 199 บาท โหลดใบสั่งจองได้ที่ http://www.kinginmyheart.com/
-----------------------------------------------
ภาวิณี เรือนนาค/ข้อมูล
7 ต.ค.57

งานไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดลพบุรี ครั้งที่ 25

          


          ขอเชิญร่วมงานไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดลพบุรี ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2557 ณ ฝั่งบ้านเรือนไทย สวนสัตว์ลพบุรี ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ "พรรณไม้สีม่วง 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ" การประกวดกล้วยไม้ บอนไซ ชวนชม ไม้รวม โป๊ยเซียนและพืชผักผลไม้อินทรีย์ ชมหลากหลายพรรณไม้งาม สืบสานอาหารพื้นบ้านลพบุรี นิทรรศการความรู้ทางเกษตร การประกวดร้องเพลง ประกวดวาดภาพระบายสี เป็นต้น จัดโดย ชมรมผู้รักต้นไม้ลพบุรี สวนสัตว์ลพบุรี หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เครือข่ายองค์กรชุมชนและหน่วยงานในจังหวัดลพบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 084-0943371
---------------------------------------------------------
ภาวิณี  เรือนนาค/ข้อมูล
7 ต.ค.57

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา : น้ำต้นทุนยังน้อย เตือนต้องประหยัด ลดเสี่ยงขาดน้ำในหน้าแล้ง

          ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(2 ต.ค. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,545 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,745 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,546 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,696 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 685 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 642 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 702 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 699 ล้านลูกบาศก์เมตร
          สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา(2 ต.ค.) สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 858 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5.55 เมตร สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 669 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อน ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 6.44 เมตร และที่อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 874 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง ประมาณ 2.70 เมตร(ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอ.บางไทร เป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความสามารถรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
          อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ อากาศเย็นจากประเทศจีนจะเคลื่อนตัวกดดันแนวฝนของไทยลงมายังภาคกลาง ทำให้ภาคเหนือแทบจะไม่มีฝนมาเติมในเขื่อนภูมิพลอีก จึงคาดได้ว่า ณ วันที่ 1 พ.ย.57 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูแล้ง เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น โดยจะต้องกันน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนปีหน้าอีกประมาณ 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวได้พร้อมกัน ลดปัญหาในช่วงน้ำหลาก นอกจากนี้ ยังต้องจัดสรรน้ำให้กับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ภาคกลางรวม 22 จังหวัด ประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาอีกประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีความจำเป็นต้องดึงน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มาช่วยเสริมการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง
          ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง คาดว่าจะมีน้ำใช้การไม่ถึง 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเช่นกัน โดยต้องสำรองไว้สำหรับการเพาะปลูกต้นฤดูฝนประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การผลิตน้ำประปา 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลืออีก 400 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้มีการพิจารณาการระบายน้ำร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อระบายน้ำมาสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกในช่วงที่มีฝนตกน้อยและมีการขาดแคลนน้ำในพื้นที่
          ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ ขอให้ทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดปัญหากระทบกันเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ไม่มีแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และหากมีการใช้น้ำทำนาปรัง ปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ในระหว่างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อน้ำจืดไปไล่น้ำเค็มมีไม่เพียงพอ และกระทบต่อไปยังการผลิตน้ำประปา เนื่องจากปัญหาค่าความเค็มที่สูงขึ้น รวมถึงภาคการเกษตรอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ และการเลี้ยงปลาในกระชัง จะเสียหายหมด หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มสูงในช่วงฤดูแล้ง

**************************************************
ข้อมูล : ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2 ต.ค.57)

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ขอเชิญรับฟังรายการวิทยุ “มหาดไทยชวนรู้”


               กระทรวงมหาดไทย ขอเชิญรับฟังรายการวิทยุ “มหาดไทยชวนรู้” ประจำเดือน ตุลาคม ๒๕๕๗ ทางสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกอากาศทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา ๑๒.๐๕ – ๑๒.๒๕ น. ทางคลื่นความถี่ F.M. ๙๑ MHz. (สวพ.๙๑) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานตามนโยบายและภารกิจของกระทรวงมหาดไทย และสามารถรับฟังรายการย้อนหลังได้ทาง www.pr.moi.go.th
                                                       ------------------------------------
ฤดีภรณ์ ศรีใส สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอ่างทอง
๔ ตุลาคม ๒๕๕๗

วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตามติดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต ปี 2557/58

       
           นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการติดตามประเมินผลมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต ปี 2557/58 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ได้กําหนดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมในพื้นที่รับผิดชอบของสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ได้แก่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และจังหวัดลพบุรี โดยเริ่มดําเนินการตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม จนถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน รวม 7 สัปดาห์ ใช้วิธีการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เริ่มปลูกข้าวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมด้วยเทคนิคการประเมินผลสภาวะเร่งด่วน รวม 350 ตัวอย่าง ผลการติดตามเบื้องต้นสรุปได้ดังนี้
           ในการรับทราบข่าวเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับทราบถึงมาตรการดังกล่าว โดยเกษตรกรจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และลพบุรี รับทราบถึงมาตรการฯ คิดเป็นร้อยละ 89 88 89 และ 74 ตามลําดับ ด้านการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายต้องการลดต้นทุนเมล็ดพันธ์ไร่ละ 122 บาท ปรากฏว่า ส่วนใหญ่สามารถลดต้นทุนได้ตามเป้าหมาย โดยเกษตรกรจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และลพบุรี สามารถลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้ไร่ละ 137 151 122 และ 110 บาท ตามลําดับ ส่วนปัจจัยการผลิตปุ๋ยเคมี เป้าหมายต้องการลดต้นทุนให้ได้ไร่ละ 40 บาท พบว่า เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้ตามเป้าหมายเช่นเดียวกัน โดยจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และลพบุรี เกษตรกรสามารถลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้ไร่ละ 73 98 71 และ 64 บาทต่อไร่ตามลําดับ สําหรับปัจจัยสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชนั้น มีเป้าหมายลดต้นทุนให้ได้ไร่ละ 20 บาท (ลิตรละ 40 บาท) ปรากฏว่าส่วนใหญ่เกษตรกรยังไม่ได้รับผลจากมาตรการเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าในตลาดระดับอําเภอเท่านั้น โดยจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และลพบุรี ลดต้นทุนสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชได้ไร่ละ 3.78 5.82 1.60 และ 4.22 บาทต่อไร่ตามลําดับ
          สําหรับค่าเช่านา ผลการติดตามเบื้องต้นพบว่าเกษตรกรในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และ
ลพบุรี มีการเช่าที่นาคิดเป็นร้อยละ 49 58 36 แล 57 ตามลําดับ โดยจ่ายค่าเช่า 2 แบบ คือ จ่ายเป็นตัวเงิน
และจ่ายเป็นผลผลิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายลดค่าเช่านาไร่ละ 200 บาท ปรากฏว่า ยังไม่ส่งผล
โดยตรงกับเกษตรกร ค่าเช่าที่เป็นตัวเงินส่วนใหญ่ยังคงจ่ายในอัตราเดิม ส่วนที่จ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตโดยคิดจากราคาผลผลิต พบว่าค่าเช่าจะลดลงตามราคาผลผลิตที่ลดลง สําหรับประเด็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการทํานาที่ถูกต้องเหมาะสม ปรากฏว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ โดยเกษตรกรในจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และ ลพบุรี ได้รับการถ่ายทอดความรู้คิดเป็นร้อยละ 12 5 6 และ 6 ตามลําดับ
           ผู้อํานวยการสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 กล่าวเพิ่มเติมว่าเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือ
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นมาตรการที่ค่อนข้างเร่งด่วน และเกษตรกรบางส่วนปลูกข้าวไปก่อนแล้ว ทําให้
มาตรการบางอย่าง เช่น การลดค่าเช่านาไม่เกิดผล เนื่องจากเกษตรกรได้ตกลงค่าเช่านาล่วงหน้าไปแล้ว ขณะที่การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการทํานาที่เหมาะสมโดยผ่าน อกม. นั้น เนื่องจากกิจกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาการทํานา ทําให้ อกม. ยังไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรเครือข่าย อย่างไรก็ดี คาดว่า การผลิตในฤดูกาลต่อไป มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวคงจะส่งผลที่ชัดเจนมากขึ้นเพราะเกษตรกรได้รับทราบมาตรการดังกล่าวแล้วอย่างทั่วถึง ทางด้านความพึงพอใจในมาตรการของเกษตรกรอยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 44 42 45 และ 48 ของแต่ละจังหวัดตามลําดับ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการให้มีมาตรการลดต้นทุนให้ได้มากกว่านี้
--------------------------------------------

ข้อมูลจาก : คณะทำงานประชาสัมพันธ์ สศข.7