วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา : แล้งนี้น้ำต้นทุนมีน้อย ต้องลดพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้ง ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

      ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(23 ก.ย. 57) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,223 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,423 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,312 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 620 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 577 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 613 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 610 ล้านลูกบาศก์เมตร
     จากข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันเพียง 5,072 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในปีปกติปริมาณน้ำใช้การได้จะอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม ในขณะที่ฤดูฝนปีนี้ ยังเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเศษเท่านั้น
     ดังนั้น กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2557/2558 ที่จะถึงอีกประมาณ 1 เดือนเศษนี้ ไว้ที่ 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 1.3 ล้านไร่ และพืชอื่นๆอีกประมาณ 7 แสนไร่ ทั้งนี้ ได้ให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ดำเนินการประชาสัมพันธ์แจ้งไปยังเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ของตน ให้ทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิต จากปัญหาการขาดแคลนน้ำที่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้
-------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น